Thursday, July 3, 2014

เลี้ยงไส้เดือน ช่วยกำจัดเศษอาหาร สร้างปุ๋ยหมักให้แปลงผัก

วิธีทำให้ดินให้อุดมสมบูรณ์ อาจเริ่มจากการทำน้ำหมักชีวภาพ ทำปุ๋ยหมัก ทำดินหมักไว้ใช้เองมากขึ้น การเลี้ยงไส้เดือน เพื่อช่วยผลิตปุ๋ย และยังช่วยกำจัดเศษผัก ผลไม้ ที่เหลือทิ้งไปอย่างน่าเสียดายได้อย่างดีด้วย

สายพันธุ์ไส้เดือน

  • สายพันธุ์แอฟริกัน ไนท์ครอเซอร์ หรือ AF ได้ผ่านการทดลองแล้วว่าเหมาะสม ทั้งเรื่องการเจริญเติบโต การขยายพันธุ์ที่รวดเร็ว และคุณภาพของปุ๋ยที่เกิดจากการหมัก และย่อยสลายจากจุลินทรีย์ภายในตัวไส้เดือน
  • ไส้เดือนแอฟริกาเป็นไส้เดือนที่อาศัยอยู่หน้าดิน (soil surface dwelling species) กินอาหารที่เป็นอินทรีย์วัตถุทุกชนิด เช่น มูลสัตว์ เศษอาหาร เศษเหลือทางการเกษตร เศษผักหญ้า และใบไม้ในปริมาณสูงมากต่อวัน เมื่อไส้เดือนชนิดนี้หลุดลงไปในดิน จึงไม่สามารถเจริญเติบโตและอยู่รอดได้ในสภาพธรรมชาติโดยทั่วไป
  • ดังนั้นการเลี้ยงดูต้องมีการควบคุมปัจจัยการเลี้ยงที่เหมาะสม และให้อาหารมากสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และให้ลูกมาก ไส้เดือนชนิดนี้ได้รับความนิยมนำเข้าไปเลี้ยงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จากการเก็บข้อมูลการเลี้ยงไส้เดือนแอฟริกาที่ภาควิชาสัตวบาลพบว่า ไส้เดือนชนิดนี้เป็นไส้เดือนขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาไส้เดือน 6 ชนิด ที่นิยมเลี้ยงกัน โดยทั่วไปมีขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาว 12 นิ้ว น้ำหนัก 1.8 กรัม ต่อตัว มีจำนวนปล้องโดยทั่วไป188 - 297 ปล้อง 
  • ไส้เดือนแอฟริกาผลิตไข่ซึ่งเป็นโคคูน 3.6 ใบต่อสัปดาห์ เปอร์เซ็นต์ฟัก 80 เปอร์เซ็นต์ ให้ลูกเฉลี่ย 2.3 ตัวต่อโคคูน โดยใช้เวลาที่ไข่ฝัก 2-3 วัน ถึง 2 สัปดาห์ เจริญเติบโตจากตัวอ่อนถึงเป็นหนุ่มสาว (เริ่มมีไคลเทลลัมหรือปลอกเนื้อ) ในระยะเวลา 1 เดือน ถึง 2-3 เดือน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของอาหารที่ใช้เลี้ยง และระยะจากไข่ถึงเป็นหนุ่มสาวใช้เวลา 40 วัน ถึง 3 - 4 เดือน 
  • การศึกษาทางสัณฐานวิทยา ลักษณะภายนอกและภายในของไส้เดือนแอฟริกาของนางสาวสุพาภรณ์ ดาคง นิสิตปริญญาโท ภาควิชาสัตวบาล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า ไส้เดือนแอฟริกามีลำตัวขนาดใหญ่ ลำตัวมีสีเทาอมม่วง ลำตัวด้านท้องแบนเล็กน้อย และมีสีชีดกว่าด้านหลัง ไคลเทลลัมสีขาวขุ่นอยู่ปล้องที่ 13 - 17 ช่องเพศเมียอยู่บริเวณปล้องที่ 13 ช่องเพศผู้วางตัวอยู่ระหว่างปล้องที่ 17 และ 18 ไม่มีช่องหลัง (dorsal pore) อัณฑะวางอยู่บริเวณผนังกั้นระหว่างปล้องที่ 10 กับ 11 และ 11 กับ 12 ถุงเก็บอสุจิอยู่ปล้องที่ 12 และ 13 รังไข่อยู่ระหว่างปล้องที่ 13 และ 14 ถุงรับอสุจิมี 2 คู่ วางตัวอยู่บริเวณปล้องที่ 10 และ 11 
  • ไส้เดือนแห้งป่นมีส่วนประกอบของโปรตีนประมาณ 62 เปอร์เซ็นต์ และโปรตีนมีส่วนประกอบของกรดอะมิโนที่จำเป็นอยู่ครบสมบูรณ์ มีส่วนประกอบ ของกรดไขมันประมาณ 9 เปอร์เซนต์ และไขมันก็มีส่วนประกอบของกรดไขมันที่จำเป็นอยู่ครบ จึงเหมาะที่จะเลี้ยงเพื่อนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ทั้งในสภาพไส้เดือนเป็น เช่น ใช้เลี้ยงปลาสวยงาม และเป็นเหยื่อตกเบ็ด ที่ปลาชอบและไม่มีกลิ่นคาวไส้เดือนติดมือ และในสภาพไส้เดือนแห้งป่น ทดแทนปลาป่นและกากถั่วเหลืองป่น ซึ่งถ้าเป็นการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อวัตถุประสงค์ข้อนี้ไส้เดือนแอฟริกาก็เป็นชนิดของไส้เดือนที่เหมาะสมมากที่สุด เพราะมีขนาดตัวใหญ่ เจริญเติบโตได้รวดเร็ว ให้ลูกมาก และกินอาหารได้มาก ทำให้เกิดประโยชน์ด้านอื่นไปพร้อมๆ กันด้วยคือ กำจัดขยะอินทรีย์ และการผลิตปุ๋ยหมักจากไส้เดือนที่มีคุณภาพสูง
  • สำหรับไส้เดือนแอฟริกามีชื่อสามัญ African Nightcrawler ชื่อวิทยาศาสตร์ Eudrilus eugenine เป็นไส้เดือนชนิดหนึ่งจากไส้เดือนจำนวน 6 ชนิด ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วโลกในขณะนี้ เพื่อผลิตไส้เดือนเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงเป็นเหยื่อตกเบ็ด เพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ และผลิตปุ๋ยหมัก ไส้เดือนแอฟริกาชนิดนี้มีกำเนิดในทวีปแอฟริกาตอนกลาง แต่ปัจจุบันมีการนำไส้เดือนชนิดนี้เข้าไปเลี้ยงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก อังกฤษ ฝรั่งเศษ สเปน ออสเตรเลีย และ ในทวีปเอเชีย เช่น ประเทศอินเดีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการเลี้ยงไส้เดือนเป็นการค้ามานานมีมูลค่าทางการตลาดหลายล้านดอลลาร์ต่อปี ไส้เดือนแอฟริกา ได้รับความนิยมใช้เป็นเหยื่อตกเบ็ดและขายได้ในราคาสูงเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับไส้เดือนชนิดอื่น ทั้งนี้ เพราะไส้เดือนแอฟริกาตัวใหญ่เกี่ยวเบ็ดได้ง่าย ปลาชอบ และเลี้ยงได้ค่อนข้างยากในสหรัฐอเมริกาเพราะเป็นไส้เดือนจากเขตร้อน

รูปแบบการเลี้ยงไส้เดือน

ทำได้หลายรูปแบบ เช่น เลี้ยงในกะละมัง วงปูน บ่อพลาสติกสีดำ ลิ้นชัก อ่างปูนสี่เหลี่ยม ซึ่งการสามารถเลือกใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ว่าเราจะเลี้ยงไส้เดือนเพื่ออะไร คือ เลี้ยงเพื่อทำปุ๋ยหมัก สำหรับใช้เอง หรือเลี้ยงเพื่อต้องการผลิตปุ๋ย และผลิตตัวไส้เดือน เพื่อขายเป็นการค้า

ก่อนปล่อยไส้เดือน ต้องหมักปุ๋ยหมักเพื่อเป็นอาหารหลักในการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน วิธีการทำก็คือ
  • นำปุ๋ยคอก เช่น ขี้ม้าแห้ง ซึ่งหาได้ในท้องถิ่น มาใส่ลงในอ่างปูนให้สูงพอสมควร รดน้ำให้เปียกชุ่มจนทั่ว แล้วใช้น้ำหมักชีวภาพที่หมักจากพืชผักสีเขียวรดให้ทั่ว เพื่อให้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายปุ๋ยหมักให้สลายตัวเร็วยิ่งขึ้น โดยปกติก็จะใช้เวลาในการหมักประมาณ 7-10 วัน ในระหว่างนี้ ต้องช่วยคลุกเคล้ากองปุ๋ยไปมา 2-3 วันครั้ง เนื่องจากกระบวนการหมักจะทำให้เกิดความร้อนในกองปุ๋ย วิธีดูว่าปุ๋ยหมักนี้ได้ทีพร้อมจะนำไปเลี้ยงไส้เดือนหรือยัง ก็คือดูว่าความร้อนหมดไปหรือยังนั่นเอง
  • ปล่อยไส้เดือนลงไป ให้ไส้เดือนคุ้นเคยกับปุ๋ยหมัก ซึ่งเป็นอาหารหลักสักระยะหนึ่ง จากนั้นก็สามารถเริ่มให้อาหารเสริมได้ ไม่ว่าจะเป็นเศษผัก เศษผลไม้สุก เช่น กล้วย มะละกอ โดยวิธีให้ก็คือให้ฝังลงไปในปุ๋ยเป็นจุดๆ แนะนำว่าให้ให้ครั้งละไม่ต้องมากนัก เมื่อหมดแล้วจึงค่อยให้ใหม่ การให้อาหารเสริมนี้จะช่วยเร่งการเจริญเติบโต การเจริญพันธุ์ การขยายพันธุ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจะได้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนที่มีคุณภาพดีกว่าใช้ปุ๋ยคอกเป็นอาหารหลักอย่างเดียว
  • หลังจากเลี้ยงไส้เดือนไปประมาณ 1 เดือนครึ่ง เราก็จะเริ่มเห็นลูกหลานตัวเล็กๆ ซึ่งถ้าเรามีการวางแผนการจัดการที่ดี เราก็จะสามารถผลิตปุ๋ยและตัวไส้เดือนได้จำนวนมากในเวลาไม่นาน แนะนำว่า ถ้าเราเริ่มต้นการไส้เดือน 1 อ่าง (พ.ท.1*1 ม.) ใช้ปริมาณไส้เดือนจำนวน 1/2 ก.ก. เมื่อระยะเวลาเลี้ยงผ่านไปประมาณ 1 เดือน เราต้องเตรียมอ่างเพิ่มใหม่อีก 1 ใบ แล้วหมักมูลสัตว์เตรียมพร้อมเอาไว้ พอได้เวลาประมาณ เดือนครึ่ง ลองสังเกต พลิกปุ๋ยที่เลี้ยงดูว่าเริ่มมีตัวอ่อนในบ่อเลี้ยงแล้วหรือยัง ถ้ามีตัวเล็กๆ เยอะ มองดูแล้วหนาแน่น  เราก็ทำการแยกคัดตัวพ่อแม่พันธุ์ไส้เดือนออก คือย้ายพ่อแม่พันธุ์จากบ่อเก่าไปยังบ่อใหม่ที่มีปุ๋ยหมักเตรียมพร้อมไว้แล้ว  เพื่อให้พ่อแม่พันธุ์ได้กินอาหารใหม่ ทำการผลิตปุ๋ยและขยายพันธุ์ต่อไป
  • ส่วนลูกตัวเล็กๆในบ่อเก่า ก็ใช้เวลาเลี้ยงต่อไปอีกจน ครบ 3 เดือน เราก็จะได้ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนที่สมบูรณ์ สามารถนำไปใช้ได้ พร้อมกับรุ่นลูก ที่โตพอที่จะคัดไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้อีก

ปริมาณที่ได้จะเริ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ เพียงแต่เราต้องเตรียมความพร้อม คือต้องเตรียมบ่อเลี้ยงให้เพียงพอ เตรียมหมักปุ๋ยให้ต่อเนื่อง จากการเริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือน ที่ 1/2 ก.ก. จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างมากในเวลาไม่กี่เดือน  ที่สำคัญหลังจากปล่อยไส้เดือนลงไปในบ่อแล้ว ก็ควรจะหาแผ่นตาข่ายปิด เพื่อช่วยป้องกันศัตรูอย่างพวกหนู กระรอก นก แมวมาทำร้ายด้วย แล้วก็อย่าลืมให้อาหาร และดูแลความชื้นให้เหมาะสมอยู่เสมอด้วย

การเลี้ยงไส้เดือน ในฤดูหนาว
ในช่วงฤดูหนาวนั้นเป็นช่วงที่ไส้เดือนชอบอยู่อาศัยในชั้นดินที่ลึกกว่าปกติ เนื่องจากส่วนด้านบนของผิวดินมีอุณภูมิเย็น และแห้งกว่าหน้าฝน

เราสามารถช่วยควบคุมอุณภูมิให้เหมาะแก่การเลี้ยงไส้เดือนได้ โดยใช้ผ้าพลาสติก ฟาง หรือ หญ้าแห้ง มาคลุมผิวดิน และรดน้ำให้บ่อยกว่าปกติ เพื่อช่วยให้ผิวดินชื้นและอุ่นขึ้น เป็นการช่วยให้ไส้เดือนย้ายขึ้นมาอาศัยอยู่บริเวณชั้นดินด้านบน

การคัดแยกไส้เดือน

การคัดแยกไส้เดือนมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ความสะดวกของผู้เลี้ยงไส้เดือน ปริมาณไส้เดือนที่เลี้ยง และความเอื้ออำนวยของสถานที่จัดการ วิธีการด้านล่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลายวิธีที่ท่านสามารถนำไปใช้ในการคัดแยกไส้เดือนได้

  • วิธีที่ 1 เลี้ยงไส้เดือนปริมาณไม่มากในภาชนะ ท่านสามารถคัดแยกไส้เดือนโดยวิธีการนี้ 
  • นำผ้าพลาสติก 1 ผืนมาปูบนพื้น โดยทำกลางแสงแดด จากนั้นนำเบดดิ้งที่มีไส้เดือนอาศัยอยู่ มาเทกองเป็นภูเขาลูกเล็กๆ หลายๆ กอง บนผ้าพลาสติกที่ปูไว้ 
  • ธรรมชาติของไส้เดือนจะกลัวแสงแดด และมุดหนีลงด้านล่างหากถูกแสง
  • ปล่อยทิ้งไว้ 20 นาที จึงทำการปาดดินจากส่วนผิวด้านบนออกทีละน้อย จนเมื่อเจอไส้เดือนเมื่อใด จึงหยุดปาดผิวดิน
  • ปล่อยทิ้งเอาไว้อีกประมาณ 20 นาที เพื่อรอให้ไส้เดือนได้มุดลงด้านล่าง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไส้เดือนเกือบทั้งหมดมาขดรวมกันบริเวณด้านล่างของกองดิน ทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวไส้เดือน
  • นำไส้เดือนที่ได้ไปใส่ภาชนะเลี้ยงใหม่ต่อไปและเติมที่อยู่ในภาชนะใหม่ให้เต็ม
  • วิธีที่ 2
  • หยุดให้อาหารที่เลี้ยงไส้เดือนเป็นเวลา 10 วัน
  • หลังจากนั้นดันเบดดิ้งเก่าไว้ด้านหนึ่ง ไส่เบดดิ้งใหม่ลงไป ถัดจากเบดดิ้งเก่า 
  • เมื่อถึงเวลารดน้ำ ให้รดน้ำเฉพาะบริเวณเบดดิ้งใหม่และงดให้น้ำหรืองดให้อาหารบริเวณเบดดิ้งเก่า
  • ปล่อยทิ้งเอาไว้เช่นนี้เป็นเวลา 1 อาทิตย์ ซึ่งหลังจากนี้ไส้เดือนเกือบทั้งหมดจะมาอาศัยที่เบดดิ้งใหม่แทน
  • จึงทำการเก็บที่อยู่เก่าเพื่อนำมูลไส้เดือนไปใช้ประโยชน์ต่อไป
  • วิธีที่ 3
  • ใช้เครื่องคัดแยกมูลไส้เดือน วิธีการนี้เหมาะสำหรับฟาร์มใหญ่ๆ ที่ต้องคัดแยกเบดดิ้งไส้เดือนในปริมาณมาก

มูลไส้เดือน

มูลไส้เดือนมาจากสิ่งที่ไส้เดือนขับถ่ายออกมา มีธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อพืช ช่วยให้ไม้ดอก พืชผักผลไม้เจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง ดินที่มีไส้เดือนอาศัยอยู่ พืชจะอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไส้เดือนจะสามารถอยู่อาศัยได้ในดินทุกสภาพ เพราะไส้เดือนจะเลือกอยู่อาศัยเฉพาะบริเวณดินที่มีสภาพแวดล้อมและปัจจัยเหมาะสม

มูลไส้เดือนดินดีอย่างไร
  • มาจากธรรมชาติ ไม่มีกลิ่น ไม่เป็นอันตรายต่อพืช
  • หากใช้ในอัตราส่วนที่สูง ช่วยให้รากออกเร็วขึ้น ปรับปรุงคุณภาพดิน
  • ลักษณะของมูลไส้เดือนเป็นเม็ดเล็กๆ ช่วยปรับปรุงให้ดินไม่แน่นเกินไป
  • มีจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ซึ่งไม่สามารถพบได้ในมูลสัตว์ หรือปุ๋ยหมักอื่นๆ
น้ำหมักมูลไส้เดือน เพื่อใช้ในครัวเรือน

  • อุปกรณ์
  • ถังขนาดเล็ก 1 ใบ
  • ตะแกรงที่กรอง 1 อัน
  • ไม้สำหรับกวนน้ำหมักมูลไส้ดือน 1 อัน
  • เครื่องให้อากาศอ็อกซิเจน (สำหรับใช้ในตู้ปลาได้) และหัววาวต่างๆ เพื่อต่อลมอ็อกซิเจนแยกออก 3 หัว
  • กากน้ำตาล หรือ น้ำตาลทราย
  • วิธีทำ
  • ใส่มูลไส้เดือนลงไปในถัง ประมาณครึ่งหนึ่งของถัง โดยกลบทับหัวอ็อกซิเจนซึ่งฝังอยู่ด้านล่าง
  • เติมน้ำบาดาลหรือน้ำฝนลงไปโดยให้ท่วมเหนือมูลไส้เดือนประมาณ 2-3 นิ้ว
  • เปิดเครื่องให้อ็อกซิเจน
  • เติมกากน้ำตาลลงไป 120 ซีซี จากนั้นจึงใช้ไม้กวนให้เข้ากัน
  • พยายามกวนน้ำหมักวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อให้จุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆจากมูลไส้เดือนผสมเข้าไปในน้ำ
  • หลังจากนั้น 3 วัน จึงนำหัวท่อให้อ็อกซิเจนออกจากถัง และปล่อยทิ้งเอาไว้ 10 ถึง 20 นาทีเพื่อให้น้ำหมักตกตะกอน
  • จึงทำการกรองเอาเศษตะกอนออก และนำน้ำหมักที่ผ่านการกรองแล้ว ไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยอัตราส่วนการใช้คือ ผสมน้ำหมักมูลไส้เดือน 30 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร


เครดิต:
  • http://www.thaicityfarm.com/autopagev4/show_page.php?topic_id=460&auto_id=29&TopicPk=
  • http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=18909.0
  • http://wormhut.blogspot.com
  • สนใจไส้เดือนแอฟริกาและการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุสอบถามข้อมูลได้ที่ รศ.ดร.สมชัย จันทร์สว่าง โทร 0-2579-1120 ,0-2579-0649  

No comments:

Post a Comment