Wednesday, April 15, 2015

มะม่วงหิมพานต์


  • มะม่วงหิมพานต์เป็นพืชอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย เป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อเป็นสินค้าส่งออก
  • มะม่วงหิมพานต์ เจริญได้ดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคอื่นๆ ของประเทศ
  • พืชที่ทนแล้ง ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ดูแลง่าย ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิดที่ระบายน้ำดี หน้าดินลึกไม่เป็นดินดาน ไม่เป็นดินด่างจัด หรือกรดจัด
  • การปลูกมะม่วงหิมพานต์นอกจากเป็นการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรแล้วยังเป็นการเพิ่มการปลูกป่า ทำให้สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น

ประวัติ

  • มะม่วงหิมพานต์เป็นไม้ผลพื้นเมืองของอเมริกาใต้ มีปลูกกันทั่วไปตั้งแต่เม็กซิโกจนถึงเปรู ต่อมาได้ ขยายพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางในทวีปอาฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ตามหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิค ตลอดจนถึงทวีปเอเซีย
  • ผู้ส่งออกผลิตผลจากมะม่วงหิมพานต์รายใหญ่ของโลก ได้แก่ อินเดีย โมแซมบิค แทนซาเนีย บราซิล เป็นต้น
  • พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี ณ ระนอง) ได้นำเข้ามาจากอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2444 พร้อมๆ กับยางพารา และหลังจากนั้นได้มีผู้นำเข้ามาอีกหลายครั้งจากอินเดีย ไลบีเรีย เป็นต้น โดยกรมวิชาการเกษตร (กรมกสิกรรมเดิม) เป็นผู้ทดลองศึกษาค้นคว้าคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถปลูกให้ได้ผลผลิตสูงในประเทศไทย
  • มะม่วงหิมพานต์ได้ปลูกกระจายไปทั่วประเทศ แต่ปลูกมากทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์
  • ไม้ผลยืนต้น ตระกูลเดียวกับมะม่วง ขึ้นอยู่ทั่วไปในประเทศที่มีอากาศร้อนและฝนตกชุก
  • ต้นไม้ไม่ผลัดใบ สูงราว 6-12 เมตร แผ่กิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มกว้างออกไปโดยรอบ 4-10 เมตร กิ่งทอดยาว แผ่ออกข้างๆ ในกิ่งใหญ่ หรือส่วนโคนของกิ่งใหญ่ๆ
  • ถ้าปล่อยตามธรรมชาติจะไม่มีกิ่งแขนงเกิด แต่ถ้าได้รับการตัดแต่งหรือบังคับ ก็จะมีกิ่งแขนงแตกออกตามทิศทางที่เราต้องการได้
  • ใบหนาคล้ายรูปไข่ ปลายใบป้อม โคนใบแหลมยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร
  • ออกช่อดอกที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว ประมาณ 15-25 เซนติเมตร บางดอกมีแต่เกสรตัวผู้ บางดอกมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย อยู่ในช่อดอกเดียวกัน ดังนั้น การผสมพันธุ์จึงทำการผสมในช่อเดียวกัน
  • ลักษณะดอกเป็นช่อ ในหนึ่งดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวนวล 5 กลีบ เมื่อแรกบานกลีบดอกจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูอมเหลือง แต่ละดอกมีขนาดเล็กมาก
  • เมื่อเวลาดอกบาน กลีบดอกทั้ง 5 ม้วนเข้าหากลีบเลี้ยง คงโผล่ให้เห็นยอดเกสรตัวเมียชัดเจน เกสรตัวผู้ อยู่ภายในดอก 9 อัน และมีรังไข่อยู่ที่ก้านเกสรตัวเมีย
  • ผล มีลักษณะแปลกประหลาด ส่วนที่เป็นผลคือก้านของดอกที่ขยายตัวพองขึ้นและส่วนที่เป็นผล จริงๆ คือ เมล็ดที่รูปร่างเหมือนไตติดอยู่ตรงปลายสุด เมื่อยังอ่อนมีสีเขียว และขยายเติบโตจนใหญ่กว่าผลในระยะแรก (ที่เกิดจากการขยายตัวของก้านดอก) เมื่อได้ขนาดก็หยุดเจริญเปลี่ยนสีเป็นสีเทา และพร้อมกันนี้ดอกที่เป็นผลปลอมก็เริ่มขยายเบ่งตัวพองโตขึ้นจนใหญ่กว่าเมล็ด
  • เมล็ดขนาดยาวประมาณ 3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ถ้าผ่าเมล็ดออกเปลือกเมล็ดจะหนาราว 2-3 มิลลิเมตร เมล็ดในมีสีขาวนวลประกบกัน 2 ซีก เปลือกหุ้มเมล็ดมียางสีน้ำตาลอ่อน มีลักษณะเป็นกรด ถ้าถูกผิวหนังจะทำให้พองเป็นแผลเปื่อย แต่มีประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมมาก
ประโยชน์ของมะม่วงหิมพานต์
  • ผล ใช้รับประทานเป็นอาหาร ทำแยม น้ำส้มสายชู เครื่องดื่ม และไวน์ น้ำของผลมะม่วงหิมพานต์ ใช้เป็นยาแก้โรคกระเพาะ แก้อาเจียน เจ็บคอ ขับปัสสาวะ และขับเหงื่อ
  • เปลือกหุ้มเมล็ด นำมาสกัดได้กรดน้ำมัน ซึ่งมีประโยชน์ทางอุตสาหกรรมใช้ทำผ้าเบรค แผ่นคลัช หมึกพิมพ์ กระเบื้องยางปูพื้น สีทาบ้าน และอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 400 ชนิด นอกจากนี้ยังทำเป็นยาแก้โรคเหน็บชา โรคเลือดคั่ง และโรคผิวหนัง
  • เยื่อหุ้มเมล็ดในใช้เป็นอาหารสัตว์
  • เมล็ดใน ใช้รับประทานมีคุณค่าทางอาหารสูง ใกล้เคียงไข่ นม เนื้อ ไม่เพิ่มไขมันในเส้นเลือดและตับ เป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายที่สุดดีกว่าพืชตระกูลถั่วทั่วๆ ไป
  • ใบและยอดอ่อน รับประทานบรรเทาโรคท้องร่วง บิด ริดสีดวง
  • ใบแก่ นำมาลดให้ละเอียด ใช้พอกแผลที่เกิดจากไฟไหม้ หรือนำมาขยี้และใช้สีฟังทำให้ฟันสะอาด
  • ลำต้น ทำหีบใส่ของ ลังไม้ เรือ แอก ดุมล้อเกวียน
  • ยางจากเปลือกลำต้น ทำหมึกประทับตราผ้า น้ำมันขัดเงา เคลือบหนังสือ น้ำประสานในการบัดกรีโลหะ และใช้ทำกาว
  • เปลือกลำต้น แก้ปวดฟัน ต้มกินแก้โรคท้องร่วง และผิวหนังพุพอง
  • ราก เป็นยาฝาดสมานแผล และแก้โรคท้องร่วง
พันธุ์
  • มะม่วงหิมพานต์ที่ปลูกอยู่ทั่วโลกมีไม่ต่ำกว่า 400 พันธุ์ แต่พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าในปัจจุบันมีไม่มากนัก ซึ่งได้จากการคัดเลือกจากพันธุ์พื้นเมืองที่มีลักษณะดีตรงตามความต้องการ
  • สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน กรมวิชาการได้ทำการคัดเลือก และได้ผ่านการรับรองพันธุ์แล้ว จำนวน 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ศรีสะเกษ 60-1 และศรีสะเกษ 60-2
  • เหมาะสมสำหรับขยายพันธุ์แบบติดตา ต่อกิ่ง หรือขยายพันธุ์โดยไม่ใช้เพศอื่นๆ นอกจากพันธุ์ที่กล่าวมาแล้ว เกษตรกรบางรายอาจคัดเลือกพันธุ์ดีจากแหล่งต่างๆ มาปลูกเองก็ได้โดยจะต้องยึดหลักในการคัดเลือกพันธุ์ ดังนี้
  • ต้องเป็นพันธุ์ที่เมล็ดใหญ่ จำนวนเมล็ดต้องไม่เกิน 150 เมล็ด/กก.
  • ต้องเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงประมาณ 20 กก./ต้น/ปี
  • เป็นพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี
  • ต้องเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสม่ำเสมอทุกปี
การขยายพันธุ์
  • การเพาะเมล็ด
  • ปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ดี ทำการเพาะใส่ถุงขนาด 5x8 นิ้ว หรือปลูกลงในหลุมเลย 
  • โดยกดเมล็ดด้านเว้าลงให้จมจนมิดวางเมล็ดเอียง 45 องศา อายุต้นกล้าที่เพาะในถุงพลาสติกไม่ควรเกิน 4 เดือน ก่อนย้ายลงปลูก
  • การขยายพันธุ์โดยไม่ใช้เพศ มีหลายวิธีคือ การตอน การติดตา การทาบกิ่ง แต่วิธีที่นิยมที่สุดคือ การเสียบข้าง ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
  • ปลูกต้นตอให้ขนาดโตกว่าแท่งดินสอ กรีดเปลือกเป็นรูป ก แล้วลอกเปลือกออก
  • เลือกยอดพันธุ์ดี ลักษณะยอดมีสีน้ำตาล ใช้มีดตัดใบและก้านออกให้หมด
  • ใช้มีดที่คมและสะอาดปาดยอดทั้งสองด้าน ดังรูป แผลที่ปาดต้องเรียบและสม่ำเสมอ
  • เปิดเปลือกแล้วเอายอดพันธุ์ดีเสียบแล้วพันด้วยแผ่นพลาสติกให้มิดยอด
  • ประมาณ 20-30 วัน หากยอดยังเขียวอยู่ให้เปิดพลาสติกออกพร้อมกับตัดกิ่งต้นตอออกครึ่งหนึ่ง
  • เมื่อยอดแตกใบและกิ่งได้ 5-10 ใบ ให้ตัดต้นตอเดิมเหนือรอยแผลเปลี่ยนยอดออก
การปลูก
  • กรณีเพาะเมล็ดในถุงพลาสติกก่อนนำไปปลูกในแปลงควรปฏิบัติดังนี้
  • ขุดหลุมให้กว้าง ยาว ลึก ประมาณ 50-100 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว 6 เมตร
  • ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 3-5 กิโลกรัม คลุกกับดินบนที่กองไว้ กลบลงในหลุมประมาณครึ่งหลุม นำต้น มะม่วงหิมพานต์ที่จะปลูกวางลงในหลุมให้โคนต้นอยู่เหนือปากหลุมเล็กน้อย ปักไม้พยุงลำต้นโดยใช้เชือกผูกติด กับต้นมะม่วงหิมพานต์เพื่อป้องกันลมโยก จึงนำดินที่เหลือกลบหลุมให้แน่น
  • ควรปลูกมะม่วงหิมพานต์ไร่ละ 45 ต้น ให้เป็นแถวตรง ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว 6 เมตร ระหว่าง แถวมะม่วงหิมพานต์ควรปลูกพืชแซม เช่น ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่วต่าง ๆ ฯลฯ ในช่วง 1-2 ปีแรก ก่อนมะม่วงหิมพานต์จะออกผล เพราะเป็นการช่วยเพิ่มรายได้และยังช่วยกำจัดวัชพืชด้วย
  • ในกรณีที่ปลูกมันสำปะหลังอยู่แล้วให้ปลูกมะม่วงหิมพานต์แทรก และให้เอาต้นมันสำปะหลังออกห่างจากจุดที่จะปลูกประมาณ 1 เมตร โดยรอบ
การปฏิบัติดูแลรักษา
  • แม้ว่ามะม่วงหิมพานต์จะเป็นพืชที่ปลูกง่าย แต่ถ้ามีการปฏิบัติบำรุงรักษาที่ดีแล้วจะทำให้มะม่วงหิมพานต์เจริญเติบโตดี และผลผลิตสูงขึ้น การปฏิบัติดูแลรักษามะม่วงหิมพานต์ที่ถูกต้อง ควรทำดังนี้
  • การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยที่มะม่วงหิมพานต์ชอบมากที่สุดคือ ปุ๋ยมูลสัตว์ เมื่อมะม่วงหิมพานต์ตั้งตัวได้ในระยะ 6 เดือนแรก ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบ้างตามสมควร จะทำให้เจริญเติบโตได้เร็วมาก สำหรับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน
  • ช่วงที่จะใส่ปุ๋ย ใส่ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่ต้นฤดูฝนเดือนมิถุนายน ครั้งที่ 2 ปลายเดือนกันยายนหรือเดือนธันวาคม
*สูตรและจำนวนที่ใช้ปุ๋ยเคมี
อายุจำนวนสูตรปุ๋ย
1-2 ปี
3-8 ขีด
12-24-12
3 ปี
1 กก.
12-24-12
4-6 ปี
1.5-5 กก.
15-15-15
7 ปีขึ้นไป
2-3 กก.
13-13-21

วิธีการใส่ปุ๋ย

  • มะม่วงหิมพานต์ที่มีอายุประมาณ 3-4 ปีขึ้น ควรพรวนดินตื้นๆ เป็นวงแหวนรอบบริเวณรัศมีของทรงพุ่ม
  • ไม่ควรพรวนดินลึกเข้าไปภายในทรงพุ่มเพราะจะกระทบกระเทือนระบบราก
  • แบ่งจำนวนปุ๋ยที่จะใส่ออกเป็น 4 ส่วน ใส่ปุ๋ยบริเวณรอบๆ ทรงพุ่มตรงบริเวณที่พรวนประมาณ 3 ส่วน อีก 1 ส่วน โรยบนพื้นดินภายในทรงพุ่ม แต่ควรระวังอย่าใส่ปุ๋ยให้ชิดกับโคนต้น เพราะปุ๋ยจะทำให้เปลือกของลำต้นเน่า และจะทำให้ตายได้
  • เหตุผลที่ใส่ปุ๋ยรอบบริเวณรัศมีทรงพุ่ม เพราะรากฝอยและรากแขนงซึ่งเป็นรากที่หาอาหารของต้นไม้จะอยู่มากในบริเวณรัศมีทรงพุ่ม หลังจากใส่ปุ๋ยแล้วควรรดน้ำด้วยเพื่อเป็นการใส่ปุ๋ยละลายแทรกซึมลงไปในดิน รากจะใช้ได้ทันที

ข้อควรปฏิบัติ

  • ควรกำจัดวัชพืชก่อนการใส่ปุ๋ย
  • ดินควรมีความชื้นก่อนการใส่ปุ๋ย
  • ควรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก โดยไม่จำกัดจำนวนที่ใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี

การตัดแต่งกิ่ง

  • การตัดแต่งกิ่งมีความสำคัญและจำเป็นโดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปี หลังกลปูกจะเป็นตัวบังคับต้นและกิ่งที่ต้องการให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นระเบียบ ควรตัดแต่งให้เหลือลำต้นเพียงลำเดียว
  • ปีแรก ควรตัดกิ่งแขนงให้สูงจากดินไม่เกิน 1 คืบ
  • ปีที่ 2 ควรตัดแต่งกิ่งแขนงให้สูงจากดินประมาณ 1 ไม้บรรทัด
  • ปีที่ 3-10 ควรตัดแต่งกิ่งแขนงขยับขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงประมาณเมตรครึ่งให้หยุดตัดได้


ข้อควรพิจารณาในการตัดแต่งกิ่ง

  • ตัดแต่งกิ่งแขนงเล็กที่เกิไปทางกิ่งลำต้นใหญ่ออก
  • ตัดกิ่งแขนงเล็กที่ใบไม่ถูกแสงออก
  • ทรงพุ่มที่เกิดชิดและชนกันระหว่างต้นให้ตัดดอก
  • การให้น้ำ ขณะที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ยังเล็ก อายุไม่เกิน 1 ปี ในระยะที่ฝนทิ้งช่วงควรมีการรดน้ำบ้าง เพื่อช่วยต้นมะม่วงหิมพานต์ให้มีชีวิตผ่านพ้นไปจนสามารถดำรงชีวิตเองได้
ศัตรูและการป้องกันกำจัด


  • หนอนเจาะลำต้น เป็นตัวอ่อนด้วง หนวดยาว เจาะเนื้อไม้ภายใน พบขี้หนอนที่ปากรู จับทำลายหรือใช้สารไดโครวอส หรือโมโนโครโตฟอส (อโซดริน) อัตรา 10 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดเข้าปากรูแล้วใช้ดินเหนียวอุดปากรู
  • เพลี้ยไฟ มีขนาดเล็กมาก ตัวอ่อนสีเหลืองคาดแดง ตัวแก่สีดำ ระบาดช่วงร้อน แล้ง ทำลายใบอ่อน ยอดอ่อน ช่อดอก ผลอ่อน ใช้สารคาร์บาริล (เซฟวิน) อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพอสซ์อัตรา 20 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
  • เพลี้ยแป้งและเพลี้ยอ่อน เกาะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก ผลอ่อน อาการที่ถูกทำลายจะหงิกงอ เหี่ยวแห้ง เมื่อพบใช้สารมาลาไธออน อัตรา 45 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือพอสซ์ อัตรา 50 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
  • ด้วงงวงเจาะยอด ตัวแก่เจาะยอดอ่อนและวางไข่เป็นตัวหนอนกัดกินเนื้อไม้ในยอดทำให้ยอดแห้ง ป้องกันกำจัดโดยจับทำลายตัวแก่ ฉีดพ่นสารพวกโมโนโครโตฟอส หรือเมธามิโดฟอส เช่น ทามารอน อัตรา 30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
  • โรคช่อดอกแห้ง เชื้อราทำให้ช่อดอกแห้งเป็นสีน้ำตาล ทำให้ดอกร่วงไม่ติดผลป้องกันกำจัดโดยฉีดช่อดอกด้วยสารพวกแมนโคเซ็บ เช่น ไดเทน เอ็ม-45 อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  • โรคแอนเทรคโนส เชื้อราเข้าทำลาย ผลปลอมและเมล็ดจะทำให้เน่าหรือเหี่ยว ถ้าทำลายช่อดอกและดอกจะทำให้เน่าเป็นสีดำและร่วงหล่น ป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่นสารค๊อปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ เช่น คูปราวิท อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
การเก็บเกี่ยว

  • มะม่วงหิมพานต์ปกติจะเริ่มให้ผลผลิตปีที่ 3
  • โดยจะเริ่มออกดอกประมาณเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ หลังจากดอกบาน 2 เดือน ผลจะเริ่มแก่ และเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม
  • การเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องควรปล่อยให้ผลแก่เต็มที่แล้วร่วงหล่นจึงเก็บเกี่ยวเอาที่พื้น ไม่ควรเก็บบนต้น เพราะจะได้เมล็ดอ่อนไม่แก่เต็มที่
  • เมื่อเก็บมาแล้วให้บิดเมล็ดออกจากผลทันที เพื่อป้องกันเชื้อราเข้าทำลายเมล็ด หลังจากนั้นนำเมล็ดไปตากแดดประมาณ 2-3 วัน ให้เมล็ดแห้งสนิท (ความชื้นไม่เกิน 12%) เพื่อเก็บไว้ได้นาน โดยไม่เน่าเสียจึงเก็บใส่กระสอบรอการจำหน่ายต่อไป
การกะเทาะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์

  • การกะเทาะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นเรื่องที่เกษตรกรควรมีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถช่วยแก้ปัญหาการว่างงานในท้องถิ่นได้ อีกทั้งได้รายได้เพิ่มขึ้นกว่าการขายเมล็ดดิบที่ยังไม่กะเทาะเปลือก

ขั้นตอนการกะเทาะ

  • ทำความสะอาด นำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบไปล้างน้ำทำความสะอาดให้ปราศจากสิ่งเจือปน โรคแมลง และคัดเมล็ดเสียทิ้ง
  • เตรียมเมล็ดก่อนกะเทาะ เพื่อลดปริมาณน้ำมันจากเปลือกและทำให้เปลือกแยกตัวจากเมล็ดในทำให้กะเทาะได้ง่ายขึ้น ที่นิยมทำเป็นการค้ามักใช้วิธีต้มเมล็ดในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที แล้วนำมาตากแดดประมาณ 1-2 แดด ให้เมล็ดมีความชื้นเหลือประมาณ 9% ซึ่งเหมาะสมที่จะนำมากะเทาะต่อไป
  • การกะเทาะเมล็ด ส่วนมากนิยมกะเทาะด้วยเครื่องกะเทาะเมล็ดแบบมือโยกเพราะราคาถูก กะเทาะง่าย และได้เมล็ดดี 70-80%
  • วิธีการกะเทาะ นำเมล็ดที่ผ่านกระบวนการในข้อ 2 มาทำการกะเทาะเปลือกโดยปฏิบัติดังนี้
  • จับเมล็ดจรดลงบนใบมีดล่างพอดี
  • โยกด้ามกด/บิดลงตรง ๆ ให้ใบมีดผ่าเข้าไปในเปลือกทั้งใบมีดล่างและใบมีดบน
  • บิดด้ามกด/บิดไปทางขวา หรือซ้ายเพื่อให้ใบมีดบนเปิดเปลือกให้อ้าออก
  • ปล่อยด้ามกด/บิดแล้ว ยกเมล็ดออกจากเครื่อง
  • การอบเมล็ด หลังจากกะเทาะแล้วเมล็ดในที่ได้ต้องนำไปอบเพื่อให้เมล็ดแห้งสามารถลอกเยื่อได้ง่าย โดยใช้อุณหภูมิประมาณ 70 องศาเซนติเกรด นาน 30 นาที หรืออาจนำไปตากแดดประมาณ 2-3 วัน
  • การลอกเยื่อ การลอกเยื่อหุ้มเมล็ดในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงในการลอกเยื่อ การลอกเยื่อทำได้โดยใช้มือหรือมีดเล็กๆ ขูดเยื่อออกจากเมล็ด
  • การคัดขนาดและการบรรจุหีบห่อ
  • ส่วนใหญ่คัดด้วยมือหรือใช้ตะแกรงเข้าช่วย การคัดขนาดแยกเมล็ดที่สมบูรณ์ ผ่าซีก แตกหัก สีคล้ำ แล้วจัดเกรดตามมาตรฐานสากล หรือความต้องการของลูกค้า 
  • หลังจากคัดขนาดเสร็จต้องรีบนำเมล็ดไปบรรจุเพื่อเก็บไว้จำหน่ายต่อไป ถ้าเก็บไว้ไม่นานอาจใส่ถุงพลาสติกแล้วผนึกให้แน่น ไม่ให้อากาศเข้าก็สามารถเก็บเมล็ดได้ระยะหนึ่ง 
  • แต่ถ้าต้องการเก็บรักษานานๆ เช่น ส่งต่างประเทศต้องบรรจุใส่ปี๊บ ปั๊มอากาศออกแล้วบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วผนึกไม่ให้อากาศรั่ว เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของแมลง เมล็ดที่บรรจุควรจะมีความชื้น 5% ตามมาตรฐานสากล
เครดิต:
  • http://www.ku.ac.th/e-magazine/december46/agri/mango.html
  • http://www.ku.ac.th/e-magazine/january47/agri/mango2.html

No comments:

Post a Comment